Quantcast
Channel: 1-ทักษะเบื้องต้น –เทพเอ็กเซล ThepExcel.com
Viewing all 31 articles
Browse latest View live

ใส่เครื่องหมาย $ ในสูตรยังไงไม่ให้งง

$
0
0

พื้นฐานที่สำคัญมากในการเขียนสูตร Excel คือการใส่เครื่องหมาย $ ใน Cell Reference (เช่น A1 C4 ) เวลาเขียนสูตร ซึ่งถ้าใครงงหรือทำไม่เป็น จะไม่สามารถเขียนสูตรที่ซับซ้อนในอนาคตได้เลย ดังนั้นเรามาปูพื้นฐานตรงนี้ให้แน่นยิ่งขึ้นดีกว่า

ทำไมต้องใส่เครื่องหมาย $ ล่ะ?

เพราะปกติว่าเขียนสูตรที่มี Cell Reference แล้วเรา Copy Cell ช่องนั้นไป Paste ที่อื่น Cell Reference มันจะเลื่อนไปตามทิศทางของการ Copy

ซึ่งบางกรณีการเลื่อนนั้นก็เป็นประโยชน์กับเรา เช่น

เวลา Copy ลงมาข้างล่าง Cell Reference ก็จะเลื่อนตามลงมา (จาก B3 -> B4 และจาก C3 -> C4) ซึ่งสะดวกมาก

แต่มันก็จะมีบางกรณีที่เราไม่อยากให้มันเลื่อนตามลงมา เช่น

ถ้า Copy ลงมาข้างล่างก็จะได้ผลลัพธ์ที่ผิดทันที สาเหตุเพราะมันดันเลื่อนลงมานั่นเอง

เราจึงต้องมีการใส่ $ ลงไปที่ Cell Reference เพื่อไม่ให้มันเลื่อน ซึ่งสามารถเลือกที่ Cell Reference ในสูตรแล้วกดคีย์ F4 เช่น

เวลา Copy ลงมา ไอ้ H1 ก็จะไม่เลื่อนตามแล้ว แค่นี้ก็สามารถ Copy ได้อย่างสบายในจ และผลลัพธ์ถูกต้อง

ใส่เครื่องหมาย $ ได้กี่แบบ?

ใส่ได้ทั้งหมด 4 แบบ ตามรูป ซึ่งสามารถเปลี่ยนรูปแบบได้เรื่อยๆ โดยการกดปุ่ม F4 เวลาเขียนสูตรแล้ว Cursor อยู่ที่ Cell Reference นั้นๆ

แล้วถ้าซับซ้อนขึ้นล่ะ คิดยังไง?

ตามรูปข้างล่าง เราจะต้องเขียนสูตรใน B3 ยังไง ให้เขียนทีเดียวแล้ว Copy ไปใช้ได้ทั้งตาราง (เช่น พอไปอยู่ที่ D6 จะต้องเป็น A6*D2)

ซึ่งถ้าเราไม่ใส่ $ เลยผลลัพธ์จะมั่วซั่ว เพราะ Cell Reference มันเลื่อน

วิธีคิดเวลาที่งง

ให้ดู Cell Reference ทีละตัว เช่น ให้ดู A3 ก่อน แล้วค่อยดู B2

A3 : คอลัมน์ A ต้องไม่เลื่อนไปทางขวา แต่แถวเลข 3มันต้องเลื่อนลงมาข้างล่าง ดังนั้น ต้องใส่ $ แค่คอลัมน์ A

B2 : คอลัมน์ B ต้องเลื่อนไปทางขวา แต่แถวเลข 2 ต้องไม่เลื่อนลงมาข้างล่าง ดังนั้น ต้องใส่ $ แค่แถว 2

เพียงเท่านี้ ก็ Copy Paste ได้ทั้งตารางแล้วววว หลักการง่ายๆ แค่ค่อยๆ ดูทีละ Cell Reference นะครับ ^^


แบบทดสอบความรู้ Excel เบื้องต้น

เทคนิคการทำงานใน Excel แบบคิดย้อนกลับ

$
0
0

วันนี้ inwexcel ขอนำเสนอเทคนิคที่ผมใช้บ่อยมากๆ ในการทำงานจริง นั่นก็คือ เทคนิคการ “คิดย้อนกลับ” นั่นเอง

การคิดย้อนกลับ คือ อะไร?

การคิดย้อนกลับ หรือ Backward Thinking เป็นแนวคิดที่เราจะตั้งต้นจากผลลัพธ์ที่อยากได้ แล้วค่อยๆ คิดย้อนกลับว่า มันต้องทำอะไรก่อน จึงจะเกิดผลลัพธ์แบบนั้นได้ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดเราก็จะรู้ว่า แรกสุดแล้วเราควรจะต้องทำอะไรบ้างนั่นเอง

ปล. ถ้าใครรู้จักหนังสือพัฒนาตัวเองสุดฮิตอย่าง 7 Habits ก็จะพบว่าหลักการนี้ก็เหมือนกับหลักการ ที่ชื่อว่า Begin with the End in Mind หรือ เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ นั่นเองครับ

ตัวอย่างการคิดย้อนกลับใน Excel

เป้าหมาย

สมมติว่าสุดท้ายแล้ว เป้าหมาย คือ เราอยากได้กราฟ ที่แสดง Trend กำไรในแต่ละเดือน โดยเปรียบเทียบระหว่างช่องทาง E-Channel กับ ช่องทางการขายหน้าร้าน

คิดย้อนกลับ

ดังนั้น Step ก่อนหน้านั้นเราก็ต้องคิดว่า ถ้าจะทำกราฟแบบนั้นได้ ต้องมีข้อมูลอยู่ในลักษณะไหน?
ซึ่งจะพบว่าเราต้องทำการสรุปกำไร โดยแยกเวลาเป็นรายเดือน และมีแยกช่องทางการขายด้วย

และการที่จะสรุปข้อมูลให้ได้แบบนี้ ทำได้หลายแบบ เช่น ใช้สูตรพวก SUMIFS / ไปบวกข้างนอกแล้วมาพิมพ์สรุปใส่ Excel เลย /แต่วิธีที่ผมจะเลือกใช้ เพราะ สะดวกและรวดเร็วมากก็คือการใช้ PivotTable นั่นเอง ดังนั้นเราจะต้องคิดย้อนอีกทีแล้วล่ะว่าจะสร้าง PivotTable ได้อย่างไร?

คิดย้อนกลับ

จะสร้าง PivotTable ได้เราจะต้องเตรียมข้อมูลให้อยู่ในลักษณะของ Database ซะก่อน
ซึ่งปัจจัยสำคัญคือการ List ออกมาว่า Database จะต้องมี Field หรือ คอลัมน์ว่าอะไรบ้าง?

เราก็ต้องคิดว่า Pivot มันต้องมี 3 Field หลัก คือ เดือน / กำไร / ช่องทางการขาย

และเราก็ต้องคิดต่อว่าการจะได้ Field เหล่านั้นมา จะต้องเตรียม Field อะไรเพิ่มอีก ก็จะพบดังนี้

  • เดือน : ควรเก็บข้อมูลเป็นวันที่ไปเลยดีกว่า ละเอียดดี แล้วไป Group ใน Pivot หรือ จะสร้าง Field คำนวณเพิ่มก็ได้
    • วันที่ที่ขายได้
  • กำไร : จะรู้กำไรได้ ต้องรู้่ยอดขาย และ ต้นทุน
    • ยอดขาย
    • ต้นทุน
  • ช่องทางการขาย => มี Field เดียว แต่มี 2 ค่า คือ E-Channel และ หน้าร้าน

สรุป

สรุปแล้วเราต้องเตรียมข้อมูลดังนี้

  • วันที่ขายได้
  • ยอดขาย
  • ต้นทุน
  • กำไร
  • ช่องทางการขาย

ซึ่งอันนี้คือการคิดจากกราฟเป้าหมายอันเดียว แต่ถ้าในความเป็นจริงเราคิดว่าต้องทำกราฟ หรือวิเคราะห์ประเด็นอื่นมากกว่านี้ ก็ต้องเตรียม Field เพิ่มเติมอีก เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับ พนักงานขาย สินค้า ลูกค้า เป็นต้น

เมื่อเตรียมข้อมูลเสร็จแล้ว ก็เอาไปทำ PivotTable เพื่อทำตารางสรุป แล้วสร้างกราฟด้วย PivotChart ก็ได้ครับ

สรุปลำดับการเรียนรู้ Excel ที่มีประสิทธิภาพ

$
0
0

ผมขอสรุปลำดับการเรียนรู้ Excel  เพื่อให้การเรียนรู้ Excel ของคุณเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ดังนี้

การเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน

  • หาแรงจูงใจ
    • คิดว่าทำไมต้องเก่ง Excel
    • หาโปรเจคทำ เพื่อให้เจอปัญหาที่ต้องแก้มากพอ
  • องค์ประกอบพื้นฐานของ Excel
  • การเขียนสูตร
  • ฟังก์ชั่นพื้นฐาน
    • การสรุปข้อมูล : SUM, COUNT, COUNTA, AVERAGE, MAX, MIN,
    • การปัดตัวเลข : ROUND, ROUNDUP, ROUNDDOWN, INT, MOD
  • การทำงานของ Excel กับวันที่และเวลา
  • Data Validation : การกำหนดเงื่อนไขการกรอกข้อมูล ว่ายอมให้กรอกอะไรใน Cell ได้บ้าง
  • การ Copy/Paste ข้อมูล
  • การใช้ฟังก์ชั่นกลุ่ม Logic เงื่อนไข
    • IF ตัวเดียว
    • IF ซ้อนกับ AND OR NOT เพื่อรองรับเคสที่มีหลายเงื่อนไข
    • IF ซ้อนกับ IF
    • ฟังก์ชันกลุ่ม IS…. เช่น ISERROR, ISTEXT, ISNUMBER, ISBLANK
  • การจัดการข้อมูล
    • การเตรียมข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบ Database ที่เหมาะสม
    • การใช้ Auto Filter และรู้ว่า Action ที่เราทำกับข้อมูลที่ถูก Filter อยู่จะทำให้กระทบกับอะไรบ้าง
    • การ Sort ข้อมูลและการ Sort หลาย Step
    • การ Map/Reference ข้อมูลด้วย ฟังก์ชั่นกลุ่ม Lookup พื้นฐาน เช่น VLOOKUP
    • ฟังก์ชั่นกลุ่ม Text พื้นฐาน เช่น LEN, TRIM, LEFT, MID, RIGHT
  • การทำ PivotTable เพื่อสรุปข้อมูล
    • การปรับ Summarized Value by เช่น SUM COUNT AVERAGE MAX MIN
    • การตีความข้อมูลที่ออกมา และ การ Double Click เพื่อดูที่มาของการคำนวณ
    • การ Group ข้อมูล ทั้งแบบ Auto และ Manual
    • การปรับ Layout และการ Rename ของ PivotTable
  • การทำ Dashboard / Visualization
    • การทำ Pivot Chart เพื่อนำเสนอข้อมูลในรูปแบบกราฟ
    • การใช้ Slicer แทน Filter เพื่อให้ควบคุม PivotTable/PivotChart ได้พร้อมๆ กันหลายตัว
    • การทำ Conditional Format แบบ Standard เพื่อใส่ Format แบบอัตโนมัติ
      เช่น ใส่ไฟเขียวไฟแดง การ Highlight สีตามค่าของแต่ละ Cell

การเรียนรู้ขั้นกลาง

  • การใช้ฟังก์ชั่นกลุ่ม Logic เงื่อนไข
    • CHOOSE
    • SUMIFS, COUNTIFS, AVERAGEIFS
  • การจัดการข้อมูล
  • การทำ PivotTable เพื่อสรุปข้อมูล
    • การปรับ Show Value As เช่น แสดงเป็น % of…
    • การปรับ Number Format และ Conditional Format บน PivtotTable
    • การตั้งค่า Field Setting /Option เช่น Show Item with No Data
    • การปรับแต่ง option เรื่อง GETPIVOTDATA
    • การใช้ Calculated Field / Calculated item รวมถึงการสร้าง Field ใหม่ที่จำเป็นเพื่อสรุปผลข้อมูลในแบบที่ต้องการ
  • การทำ Dashboard / Visualization
    • การทำกราฟหลอกตา (Mixed Chart)
    • การทำ Conditional Format แบบ Formula สำหรับเงื่อนไขขั้นสูง
  • การประยุกต์เจ๋งๆ
    • การใช้คีย์ลัดต่างๆ เพื่อให้ทำงานเร็วขึ้น
    • แนวทางการใช้ Excel Track งาน/Issue ต่างๆ
    • การใช้ Goal Seek เพื่อแก้สมการแบบง่ายๆ

การเรียนรู้ขั้นสูง

เนื้อหาหลักใน Excel

การเขียนโปรแกรม VBA

การทำ VBA ได้เป็นสิ่งที่ทำให้คนคนหนึ่งเป็นเหมือนเทพประจำที่ทำงานเลยก็ว่าได้ แต่ด้วย Trend ในอนาคต ผมคิดว่าการใช้ VBA อาจเริ่มจำเป็นน้อยลง แต่การเข้าใจ VBA ขั้นพื้นฐานก็ยังเป็นสิ่งที่ดีสำหรับคุณอยู่ดี ดังนั้นรู้พื้นฐานไว้ไม่เสียหายครับ

  • การบันทึกการกระทำของคุณด้วย Record Macro จะได้ไม่ต้องนั่งเขียน Code เองตั้งแต่ต้น
  • การเขียน VBA เพื่อควบคุม Flow การทำงานพื้นฐานเพื่อให้ Excel ทำงานแทนเรา
  • การเขียนฟังก์ชันเอาไว้ใช้เอง (User-Defined Function)
  • ผมแนะนำคอร์ส VBA ของคุณพิชาติครับ มีแบบฟรีให้ดูก่อนด้วย เรียนได้ตั้งแต่ไม่มีพื้นเลย

เรื่องเฉพาะทาง และ Add-in ต่างๆ

  • ฟังก์ชันทางการเงิน : PV, FV, PMT, RATE, IRR, NPV
  • Data Analysis Toolpak : เพื่อวิเคราะห์ทางสถิติ เช่น ANOVA, Regression

การใช้ Power Tool ต่างๆ

เครื่องมือเหล่านี้ เป็นเครื่องมือ Trend ใหม่ ที่น่าสนใจมากๆๆๆ และจะเป็นสิ่งที่ผมจะเน้นในการนำเสนอจากนี้เป็นต้นไป

  • Power Query = ช่วยเชื่อมต่อ และ จัดการข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม (แทน Steps การจัดการข้อมูลได้เลย)
  • Power Pivot = วิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง เขียนสูตรได้ยืดหยุ่นกว่า PivotTable ธรรมดามากมายนัก (แทน Steps การทำ PivotTable เพื่อสรุปข้อมูลได้เลย)
  • Power View = นำเสนอข้อมูลด้วย Visualization เจ๋งๆ ที่ใคร เห็นแล้วก็ต้องทึ่ง (แทน Steps การทำ Dashboard / Visualizationได้เลย)
  • ซึ่ง 3 เครื่องมือข้างบนนี้ถูกรวมอยู่ในเครื่องมือ Power BI ซึ่งโหลดมาใช้ได้ฟรี!!

 

สิ่งที่เราเห็นใน Cell มาจากไหน ?

$
0
0

สิ่งที่เราเห็นใน Cell หนึ่งๆ ของ Excel นั้น จริงๆ แล้วมันมีที่มาหลาย Step มากเลยนะครับ และวันนี้ผมก็จะมาพูดถึงประเด็นนี้ให้เห็นกันชัดๆ กันไปเลย

ตัวอย่างที่ 1

สมมติว่าใน cell นึงเราเขียนสูตรว่า =1.5+3 ส่วนนี้คือ Formula

มันก็จะคำนวณจนได้ค่าผลลัพธ์ คือ 4.5 ส่วนนี้คือ Value

จากนั้นถ้าเราลอง ปรับ Format ให้ไม่มีทศนิยม โดยกดปุ่ม Decrease Decimal

จะได้เห็นตัวเลขใน Cell เป็น 5
แต่ค่าจริงๆ ใน Cell ยังคงเป็น 4.5 อยู่เช่นเดิมนะครับ

ลองพิสูจน์ได้โดยลองเช็คว่า A1=5 รึเปล่า? จะได้ FALSE แต่ถ้าเช็คว่าได้ 4.5 รึเปล่าจะได้ TRUE

ทั้งนี้เป็นเพราะการปรับ Format เป็นเพียงปรับสิ่งที่มองเห็น แต่ไม่กระทบกับค่าที่แท้จริงใน Cell แต่อย่างใดครับ

ตัวอย่างที่ 2

basic1

ใน A1 มีค่าที่แท้จริงเป็น 2.5 แต่แสดงผลเป็น 3 เพราะปรับ Format ให้ไม่มีทศนิยม
แต่เวลานำไปคำนวณ Excel ก็ยังเอาค่าที่แท้จริงคือ 2.5 ไปคำนวณอยู่ดี

เช่น =A1*A2 แปลว่าให้เอาค่าใน A1 คูณด้วยค่าใน A2 ซึ่งในที่นี้ได้ 5 ไม่ใช่ 6
เพราะเอาค่าที่แท้จริง คือ 2.5 ไปคูณ 2 ต่างหาก (ไม่ใช่ 3*2)

นี่คือประเด็นสำคัญที่ผมอยากจะเน้นย้ำในบทความนี้ครับ ^^

การทำ Data Validation ขั้นพื้นฐาน

$
0
0

บังคับให้กรอกข้อมูลตามที่กำหนดด้วย Data Validation

บางครั้งเราต้องมีการให้คนอื่นมากรอกข้อมูลในไฟล์ Excel ที่เราทำขึ้น เช่น ทำแบบฟอร์มช่วยคำนวณบางอย่างให้ ซึ่งเราเขียนสูตรไว้อย่างดี แต่สุดท้ายฟอร์มกลับใช้ไม่ได้เพราะคนกรอก กรอกข้อมูลไม่ตรงกับที่เราคิด เช่น กรอกผิดประเภท ผิดรูปแบบ

ปัญหานี้สามารถลดให้เหลือน้อยลงได้โดยการใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า Data Validation

องค์ประกอบของ Data Validation

  1. ในแต่ละช่องจะยอมให้กรอกข้อมูลอะไรได้บ้าง (Settings) เช่น ตัวหนังสือ ตัวเลข วันที่
    โดยกำหนดละเอียดได้ด้วยว่า จะยอมให้กรอกได้กี่ตัวอักษร กรอกห้ามเกินค่าเท่าไหร่ ไม่ต่ำกว่าเท่าไหร่
  2. ข้อความแนะนำ เมื่อมีการเลือก Cell (Input Message)
  3. เมื่อกรอกผิดจะให้ขึ้นเตือนว่าอะไร?? (Error Alert)

Dropdown List

แต่ที่เจ๋งและใช้บ่อยสุดๆ คือ Settings ที่ชื่อว่า List ซึ่งสามารถทำเป็น Dropdown List เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานทำงานได้สะดวกมากขึ้น ตัวอย่างเช่น

ใครทำ Dropdown List ได้แล้ว สนใจอยากทำ Dropdown List หลายชั้น อ่านได้ที่นี่

Data Validation ขั้นสูง

นอกจากนี้ ยังสามารถกรอกเงื่อนไขเป็นสูตรได้ด้วยการเลือก Settings เป็น Custom
โดยหลักการคือ จะยอมให้กรอกค่าได้ก็ต่อเมื่อสูตรที่ใส่มีค่าเป็นจริงเท่านั้น (ถ้าเป็นเท็จจะขึ้นเตือน)

เช่นรูปข้างล่าง ผมใส่เงื่อนไขว่าต้องนับแต่ละคำได้ไม่เกิน 1 ครั้ง (รายละเอียดวิธีทำ อ่านได้ที่นี่)

prevent-duplicate-entry2

 

ทำไมถึงต้องเก่ง Excel ?

$
0
0

ทำน้อย ได้มาก สุดยอด!

ตัวผมเองเคยใช้งาน Excel ครั้งแรก น่าจะสมัยเรียนมัธยมต้น ไม่ก็มัธยมปลาย (จำเวลาแน่นอนไม่ได้จริงๆ ครับ รู้แต่นานมากแล้ว)… แต่ที่จำได้คือ ตอนใช้งานแรกๆ นั้น ผมไม่ได้มีความรู้สึกชอบ Excel เลยซักนิด ทำให้ผมทำได้แค่กรอกข้อมูลกับเขียนสูตรง่ายๆ และใช้เครื่องมือช่วยเหลือเป็นนิดหน่อยเท่านั้น ไม่ได้คิดจะฝึกฝนอะไรมากมาย เพราะไม่รู้ว่าจะใช้ Excel เก่งๆ ไปทำไม…

ผมยังคงความสามารถระดับเดิมอยู่จนเรียนจบปริญญาตรีวิศวะ จุฬาฯ และได้มีโอกาสไปทำงานเป็นวิศวกรที่บริษัทแห่งหนึ่ง ผมได้เห็นรุ่นพี่คนหนึ่งใช้ Excel เก่งมาก ซึ่งทำให้เค้าทำงานได้เร็ว (และดูสบายๆ ชิลๆ ด้วย) และที่สำคัญเขายังเขียนโปรแกรมบน Excel ให้มันทำงานอัตโนมัติได้ด้วย!

“เฮ้ย! Excel มันทำงานอัตโนมัติได้ด้วยเหรอ!?” ผมคิดในใจดังๆ (ด้วยความเซอไพรซ์มาก) ซึ่งตอนหลังผมก็ได้เรียนรู้ว่ามันคือการเขียนภาษาคอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า VBA ซึ่งเป็นภาษาที่เอาไว้ควบคุมการทำงานของโปรแกรมบน Microsoft Office ได้ทั้งหมดนั่นเอง

“อย่างนี้ ถ้าเราใช้ Excel ได้เก่งเทพๆ แบบพี่คนนี้เราก็สบายขึ้นเยอะเลยสิ!!” นี่แหละคือหนทางที่จะ Work Smart อย่างแท้จริง ในแบบที่พนักงานธรรมดาๆ แบบเราก็น่าจะทำได้

ตอนนั้นเองทำให้ผมเริ่มที่จะสนใจ Excel ขึ้นมาเป็นครั้งแรก “ทำน้อย ได้มาก สุดยอด!”

Excel คือเครื่องทุ่นแรง

ที่บอกว่า “ทำน้อย ได้มาก” มันก็คือหลักการของ “เครื่องทุ่นแรง” (Leverage) ที่ช่วยให้คุณสบายขึ้น กูรูหลายท่านเรียกคำนี้ว่า “พลังทวี” ซึ่งจะเห็นว่าผลลัพธ์ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักดังนี้

ผลลัพธ์ = แรงที่เราออก (ความรู้เกี่ยวกับงาน)  x  พลังในการทุ่นแรง (ความรู้ Excel)

  • ถ้าคุณมีทักษะเดิมที่ดี แต่ไม่รู้จักการนำ Excel มาช่วย คุณก็จะต้องออกแรงเยอะเกินความจำเป็น…
  • ในทางกลับกัน หากคุณเก่ง Excel มาก แต่ไม่มีทักษะหรือความรู้พื้นฐานอื่นเลย มันก็จะไม่ช่วยอะไร… เพราะว่า 0 x 100 ก็ยังคงได้ 0 อยู่ดี… จริงมั๊ยครับ?

Excel ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด

ต่อมา ผมก็เปลี่ยนแผนไปเรียนต่อปริญญาโท MBA จึงลาออกจากบริษัทเดิมซะก่อน…การฝึก Excel ของผมจึงพักไปชั่วครู่ เพราะไม่รู้จะฝึกใช้ไปทำไม (ตอนนั้นคิดสั้นมากกก)

พอได้มีโอกาสมาเรียนโท MBA ที่จุฬาฯ ผมก็ได้เจอเพื่อนที่เก่ง Excel มากอีกคนหนึ่ง ตอนทำงานกลุ่มเพื่อแก้โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับการวางแผนการผลิตสินค้าและกระจายสินค้า ว่าจะผลิตสินค้า A B C อย่างละกี่ชิ้นดี และส่งกระจายสินค้าด้วยเส้นทางไหนถึงจะได้กำไรสูงสุด มันบอกว่าถ้าให้ Excel มามันแก้ได้สบายๆ เลย

 “เฮ้ย! Excel มันแก้โจทย์ปัญหาได้ด้วยเหรอ? นึกว่าทำได้แต่ตารางข้อมูล” คราวนี้ผมไม่คิดในใจแล้ว ผมถามมันเลย

เพื่อนผมจึงอธิบายว่า Excel มีเครื่องมือแก้โจทย์ปัญหาที่ชื่อว่า Solver อยู่ ซึ่งช่วยให้เราหาคำตอบที่ดีที่สุดได้ ผมยิ่ง Surprise หนักเข้าไปใหญ่ เพราะในความคิดเดิมของผม Excel มันทำได้แค่การกรอกข้อมูลลงตาราง แล้วเขียนสูตรคำนวณจากข้อมูลที่เราใส่ลงไปเท่านั้น

ที่สำคัญตอนเรียนปริญญาโท MBA อาจารย์มีการสั่ง(และสอน)ให้ใช้ Excel ช่วยทำงานเยอะมาก ทั้งวิชา Accounting, Statistics, Finance, Operations Management และอีกมากมาย

ผมจึงได้เรียนรู้แล้วว่า Excel มันช่วยเราได้เกือบทุกวิชาเลย อย่างนี้ก็แปลว่าการทำงานจริงก็สามารถใช้ Excel มาช่วยได้อีกเพียบเลยน่ะสิ! (มิน่าล่ะ..พี่ที่ทำงานเก่าถึงดูเจ๋งจัง)

คราวนี้ผมเข้าไปค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตใหญ่เลย ผมได้ค้นพบความเจ๋งๆ ของ Excel เพิ่มอีกมากมาย (คุณลองดูสิ)

Basic ต้องแน่นก่อน

หลังจากเรียนจบโท ก็ถึงคราวที่ผมต้องเตรียมตัวหาที่ทำงานใหม่ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมชอบในการเรียน MBA ก็คือ เรื่องเกี่ยวกับตัวเลข และการคำนวณต่างๆ ที่สำคัญผมก็รู้สึกชอบและอยากเก่ง Excel อีกด้วย ผมจึงพยายามหางานที่น่าจะได้วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพราะมีโอกาสสูงที่จะได้ใช้ Excel เยอะๆ

แต่พอจะเขียน Resume แล้วมันให้กรอกทักษะการใช้ Microsoft Office ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะถามทั้ง Word Excel PowerPoint

ผมเองในตอนนั้นก็รู้สึกกระดากมือ จะเขียนว่าผมเก่ง Excel ก็ไม่กล้า เพราะจริงๆ ตอนนั้นก็ไม่เก่งเท่าไหร่ ถึงเขียนมั่วไป เวลาสัมภาษณ์ก็โดนถามจนรู้ความจริงอยู่ดี

เมื่อคิดได้เช่นนั้น ผมจึงต้องฝึกที่จะเรียนรู้วิธีใช้ Excel วิเคราะห์ข้อมูลให้ผมเก่งขึ้นจริงๆ เท่านั้น!

พอเปิดอินเตอร์เน็ตดูก็พบว่ามีแหล่งความรู้ดีๆ เพียบ โดยเฉพาะ VDO บน YouTube แต่สิ่งที่ผมค้นพบคือ ผมดูไม่รู้เรื่องที่ควร… เหมือนความรู้มันไม่เชื่อมโยงกัน ผมไม่เข้าใจภาพรวม ทำตามได้อย่างเดียว พลิกแพลงไม่ได้!

ไม่ใช่ว่าวีดีโอเหล่านั้นสอนไม่ดีนะครับ ผมค้นพบว่า ที่ผมไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้เป็นเพราะผมขาดความรู้พื้นฐานที่จำเป็นต่างหาก … ซึ่งถ้าพื้นฐานไม่ดี ถ้าเทียบกับจรวดที่มีเป้าหมายจะไปดวงจันทร์ ก็คงไปไม่ถึงเพราะแท่นปล่อยจรวดไม่แข็งแรงพอ

เมื่อรู้อย่างนั้น ผมตัดสินใจไม่ทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว แต่พยายามทำตัวเป็นแก้วที่ไม่มีน้ำ (ซักหยด) แทนแล้วเริ่มต้นเรียนรู้ Excel ใหม่จากศูนย์

ผมตั้งใจอ่าน E-Book จำนวนมาก และเรียนวีดีโอสอน Excel ใน YouTube ของ ExcelisFun ซึ่งเค้าสอนดีมากๆ ตั้งแต่พื้นฐานจน Advance เลย แต่วีดีโอเค้ามีเยอะมาก (เป็นพันคลิป) ผมจึงต้องพยายามเลือกดูให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

มั่นใจว่าคุณเองก็สามารถเก่ง Excel ได้

ข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่หลายคนมักจะลืมคิดไปก็คือ คนเก่งทุกคนล้วนเคยไม่เก่งมาก่อนทั้งนั้น ไม่มีใครเล่นกีฬา เล่นดนตรี ทำงาน หรือใช้ Excel เก่งมาตั้งแต่เกิดหรอกครับ

อีกอย่างคือ ความเก่งนั้นถูกจำกัดด้วยความคิด หากเราคิดว่าเราไม่มีทางเก่งได้ เราก็จะไม่เก่งจริงๆ หากเราคิดว่าเราจะต้องเก่งให้ได้ แล้วพยายามจนถึงเป้าหมาย สุดท้ายเราก็จะเป็นคนที่เก่งจริงๆ จนได้

อย่างกรณีตัวผมเอง อย่างที่บอกว่าผมอยากทำงานที่น่าจะได้วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ หรือทำงานเกี่ยวกับตัวเลข ผมจึงสนใจงานด้านการเงินการธนาคารเป็นอย่างมาก และเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการสัมภาษณ์งานเข้าทำงานที่ธนาคารสีเขียว (ซึ่งต่อไปจะขอเรียกว่า Bank) ผมใช้เวลาเกือบๆ  1 เดือนเต็มๆ ฝึก Excel อย่างจริงจัง ทั้งอ่านหนังสือ E-Book ฝรั่ง และดูคลิป Excel ใน YouTube มากมาย

พอได้มีโอกาสเข้ามาทำงานที่ Bank จริงๆ ผมใช้เวลาเพียงแค่ 2-3 เดือน ก็สามารถเรียนรู้ทักษะ Excel เพิ่มขึ้น จนผมได้กลายเป็นที่ปรึกษาด้าน Excel ประจำ Office ไปแล้ว!

เมื่อผมเริ่มมีความรู้มากขึ้น ผมก็อยากจะแบ่งปันความรู้ให้กับคนมากขึ้นอีก จึงตัดสินใจว่าจะต้องให้ความรู้กับคนในโลกออนไลน์ด้วย ระหว่างนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจในความรู้ตัวเองมากขึ้น ผมก็ตัดสินใจลองไปสอบใบ Certificate Excel ของ Microsoft ด้าน Excel ดู จนในที่สุดผมได้รับใบ Certificate ชื่อ Microsoft Office Specialist : Excel ระดับ Expert มาจนได้ และผมก็พยายามหาความรู้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง (และตอนนี้ก็ยังไม่หยุด แถมกำลังเรียนรู้เครื่องมือใหม่ๆ ที่คนใช้ Excel อย่างเราสามารถต่อยอดได้ไม่ยาก อย่าง Power BI อีกด้วย)

ทั้งหมดนี้ก็เริ่มมาจากคนที่เคยไม่เก่ง Excel มาก่อนคนหนึ่ง เพราะฉะนั้น จงมั่นใจเถอะว่าคุณก็เก่ง Excel ได้ (ในเวลาไม่นานด้วย) 

ฟังก์ชันปัดตัวเลข ปัดเศษทศนิยม

$
0
0

เวลาเราใช้ Excel คำนวณตัวเลข บ่อยครั้งผลลัพธ์จะออกมาเป็นตัวเลขที่หน้าตาน่าเกลียดหน่อยๆ เพราะมีทศนิยมเยอะเกินไป เช่น 1234.5465 ซึ่งในชีวิตจริงเราไม่ค่อยอยากเห็นทศนิยมเยอะขนาดนี้อยู่แล้ว ดังนั้นฟังก์ชันที่สามารถปัดตัวเลขได้จึงเป็นสิ่งจำเป็น

ROUND, ROUNDUP, ROUNDDOWN

ฟังก์ชันที่ใช้บ่อยที่สุดในการปัดตัวเลขก็คือ ฟังก์ชันกลุ่ม ROUND, ROUNDUP, ROUNDDOWN นั่นเอง ซึ่งผมขอพูดถึงตัวที่เข้าใจง่ายที่สุดก่อน นั่นก็คือ ROUNDDOWN

ROUNDDOWN

ฟังก์ชันนี้ มีวิธีใช้งาน คือ

=ROUNDDOWN(number,num_digits) หรือแปลได้ว่า
=ROUNDDOWN(ตัวเลขที่จะปัด,จำนวนทศนิยมที่จะให้คงไว้)

เช่น =ROUNDDOWN(1234.5465 , 2) จะได้ 1234.54 เพราะต้องการทศนิยม 2 ตำแหน่ง และการใช้ ROUNDDOWN แปลว่า ตำแหน่งที่เหลือให้ตัดทิ้งได้เลย ไม่ต้องสนใจว่าจะมีค่ามากหรือน้อยแค่ไหน

เช่น =ROUNDDOWN(1234.5465 , 1) จะได้ 1234.5 เพราะต้องการทศนิยม 1 ตำแหน่ง และการใช้ ROUNDDOWN แปลว่า ตำแหน่งที่เหลือให้ตัดทิ้งได้เลย ไม่ต้องสนใจว่าจะมีค่ามากหรือน้อยแค่ไหน

ROUNDUP

ฟังก์ชันนี้ก็คล้ายๆ ROUNDDOWN แต่จะดูว่ามีตัวเลขถัดจากตำแหน่งทศนิยมที่ต้องการรึเปล่า? ถ้ามีก็จะปัดขึ้น เช่น

=ROUNDUP(1234.502,2) = 1234.51
=ROUNDUP(1234.502,1) = 1234.6

ROUND

ฟังก์ชันนี้ทำตัวผสมกันระหว่าง ROUNDUP และ ROUNDDOWN โดยจะดูว่าตัวเลขถัดจากตำแหน่งทศนิยมที่ต้องการถึงเลข 5 หรือไม่? ถ้าถึงก็จะปัดขึ้นแบบ ROUNDUP ถ้าไม่ถึง ก็จะปัดเศษทิ้งแบบ ROUNDDOWN เช่น

=ROUND(1234.5465,2) = 1234.55
=ROUND(1234.5465,1) = 1234.5

เรื่องของเรื่องคือ เจ้า ROUND, ROUNDUP, ROUNDDOWN ทั้ง 3 ตัวนี้ สามารถใส่จำนวน Digit ทศนิยมให้เป็นเลข 0 หรือ ติดลบก็ได้!! (วิธีการพิจารณาตัวถัดไปมันก็จะวิ่งย้อนกลับไปทางซ้าย) เช่น

=ROUND(1234.5465,1) = 1234.55
=ROUND(1234.5465,0) = 1235
=ROUND(1234.5465,-1) = 1230
=ROUND(1234.5465,-2) = 1200

สรุปแล้วเป็นดังนี้

 


เจอคนใส่สูตรแบบนี้ =SUM(C7+D7+E7+F7+H7+I7) แปลกจริง

$
0
0

วันนึงผมเจอคนที่ทำงานเอาไฟล์ Excel อันนึงให้ดู ผมเจอสูตรที่แปลกมาก คือ อันนี้ครับ

=SUM(C7+D7+E7+F7+H7+I7)

คือมันเป็นสูตรที่ดูแล้วขัดหูขัดตามาก เพราะมีความแปลกในตัวเองหลายประการ แต่ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจเลยอยากจะเอามาแชร์กันครับ

ประการแรก คนทั่วไปก็จะคิดว่า ทำไมไม่เขียนแบบนี้

=SUM(C7:I7)

แน่นอนว่ามันไม่เหมือนกัน เพราะสูตรตั้งใจเว้น G7 เอาไว้ ดังนั้นควรจะเขียนแบบนี้มากกว่า

=SUM(C7:F7)+SUM(H7:I7)

แต่ว่าการเขียน =SUM(C7:F7)+SUM(H7:I7) อาจมีข้อจำกัดบางอย่างที่สู้สูตรแรกไม่ได้ เช่น

  1. ถ้าข้อมูลในช่องดันเป็นข้อมูล Text ที่หน้าตาเหมือนตัวเลข แต่เราดันอยากบวกมัน แบบนี้ SUM ไปตรงๆ จะบวกไม่ได้ เพราะว่าสูตร SUM จะหาผลรวมเฉพาะช่องที่มีประเภทข้อมูลเป็น Number เท่านั้น (ซึ่งก็ดีในสถานการณ์ทั่วๆ ไปแหละครับ) แต่ถ้าเราดันอยากให้บวก Text ที่หน้าตาเหมือนตัวเลขด้วย เจ้า =SUM(C7:F7) ก็จะทำหน้าที่นี้ไม่ได้
  2. ถ้าหากมีการแทรกคอลัมน์ระหว่าง Range ที่อยู่ในสูตร SUM เช่น C7:F7 ตัว Cell ใหม่ที่แทรกขึ้นมา ก็จะถูกบวกเข้าไปด้วยโดยอัตโนมัติ (ซึ่งก็ดีในสถานการณ์ทั่วไป) แต่ถ้าหากเราอยู่ในสถานการณืที่ไม่อยากให้เอามาบวกด้วย แบบนี้สูตร =SUM(C7:F7) ก็จะไม่ดี

ดังนั้นถ้าเราอยากแก้ไขจุดอ่อนของ SUM ธรรมดา เช่น

อยากให้บวกข้อมูล Text ที่หน้าตาเหมือนตัวเลขได้

เราอาจต้องเขียนสูตรแบบนี้แทน เช่น =SUM((C7:F7)*1) แล้วกด Ctrl+Shift+Enter (เป็นสูตรแบบ Array Formula) หรือจะใช้เป็น =SUMPRODUCT((C7:F7)*1) แล้วกดแค่ Enter แทนก็ได้

ทั้งนี้การ *1 เพื่อทำให้แปลง Text เป็น Number ซะก่อน แล้วค่อย SUM เพราะถ้าเราใช้ Math Operator ใดๆ เช่น + – * / ใส่เข้าไป จะช่วยให้แปลง Text เป็น Number ได้

อยากให้ปลอดภัยต่อการแทรกคอลัมน์

เราก็ควรจะใช้ =SUM(C7,D7,E7,F7) เพราะว่าสามารถใช้เทคนิคกด Ctrl ค้างไว้แล้วไล่คลิ๊กแต่ละช่องได้ ซึ่งจะช่วยให้เขียนสูตรเร็วขึ้น ง่ายกว่าการใส่ + ลงไป

อยากให้ทั้งบวกข้อมูล Text ที่หน้าตาเหมือนตัวเลขได้ และ ปลอดภัยต่อการแทรกคอลัมน์

เราก็ควรใช้สูตร =SUM(C7+D7+E7+F7+H7+I7) ???
จะเห็นว่าก็ไม่ เพราะมันก็เป็นการเขียนโดยไม่จำเป็นอยู่ดี
เพราะจริงๆ เขียนว่า =C7+D7+E7+F7+H7+I7 ก็พอแล้วจริงมั้ยครับ?

นี่คือสาเหตุที่ว่า คิดยังไง ในมุมไหน สูตรนี้ก็แปลกอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ถ้ามันได้คำตอบที่ถูกต้องตามที่คนเขียนต้องการ มันก็เป็นสูตรที่ทำหน้าที่ของมันได้แล้วล่ะครับ

เพื่อนๆ คิดยังไงกันบ้างครับ?? Comment กันได้นะ

 

 

 

9 เทคนิค เก่ง Excel มือใหม่ก็ทำได้

$
0
0

Excel เป็นโปรแกรมสามัญประจำทุก Office และยังเป็นโปรแกรมที่คนใช้เป็นสร้างผลลัพธ์ได้ต่างกับคนใช้ไม่เป็น มากๆ เรียกได้ว่าคนใช้ Excel เก่งๆ จะทำงานได้เสร็จเร็วกว่าแถมยังถูกต้องมากกว่า

สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะ Excel เป็นโปรแกรมที่มีความสามารถหลากหลาย และคนใช้งานต้องมีความเข้าใจที่ค่อนข้างลึกซึ้งจึงจะพลิกแพลงการทำงานได้ดี

แต่มันก็ไม่ใช่ทุกเรื่องของ Excel ที่จะต้องใช้ความรู้ที่ลึกซึ้งอะไรมากมาย หลายๆ เรื่องเป็นแค่เรื่องของ “รู้” กับ “ไม่รู้” มากกว่า ซึงบทความนี้ผมจะขอพูดถึง 9 เทคนิค Excel ที่จะทำให้คุณใช้ Excel ได้เก่งขึ้นแบบมือใหม่ก็ใช้ได้เลย

No.1 : กรอกวันที่/เวลาปัจจุบันอย่างไวด้วย Ctrl + ;


เราสามารถกรอกข้อมูลวันที่ปัจจุบัน ณ ขณะนั้นลงไปใน Cell ด้วยการกดปุ่มลัดบน Keyboard Ctrl+; (ปุ่ม ว)
ซึ่งมีวิธีจำง่ายๆ คือ ปุ่ม ว. = วันที่และเวลา
วิธีจำอีกแบบคือ เวลา จะมีสัญลักษณ์ คือ : ดังนั้นก็เลยมีปุ่มลัดเป็น Ctrl+: ครับ

  • จะใส่วันที่ปัจจุบัน กด Ctrl+;
  • จะใส่เวลาปัจจุบัน กด Ctrl+: หรือ Ctrl+Shift+; นั่นเอง

Tips1: หากกด Ctrl+; แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น แสดงว่ามี Bug … ให้ลองปิด Excel แล้วเปิดใหม่ แล้วลองใหม่นะครับ

Tips2: พอลองกรอกปีด้วย Ctrl+; แล้ว ดูดีๆ นะว่าคอมพ์เราต้องกรอก วัน/เดือน/ปี ค.ศ. หรือ เดือน/วัน/ปี ถ้าใส่ผิดก็จะมั่วเลย (แต่ละเครื่องอาจตั้งค่าไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับ Regional Setting ใน Control Panel

Tips3: โดยแม้ดูเผินๆ การกด Ctrl+; จะคล้ายๆ กับการใส่ฟังก์ชันที่ชื่อว่า =TODAY() แต่จะมีความต่างกันตรงที่ว่า การกด Ctrl+; จะเหมือนกับการที่เรากรอกวันที่ลงไปเอง ซึ่งค่าจะไม่เปลี่ยนอีกเลย แม้จะนอนหลับจนถึงวันถัดไปแล้วเปิดไฟล์เดิมมาดูอีกครั้ง ซึ่งต่างจาก =TODAY() ที่วันที่จะเปลี่ยนไปหากเอาไฟล์ไปเปิดในอนาคต

No.2 : ค้นหา Sheet ที่ต้องการอย่างรวดเร็ว

Excel แต่ละไฟล์มี Sheet ได้หลายอัน และบางไฟล์ก็อาจมี Sheet เยอะมากจนหาไม่เจอเลยก็เป็นไปได้ถ้า
จะดีกว่ามั้ย หากมีวิธีเลือก Sheet ที่ต้องการอย่างรวดเร็ว?

ผมมีวิธีง่ายๆ มานำเสนอ นั่นก็คือ การกดปุ่ม Click ขวา ที่ลูกศรด้านซ้ายสุดของ Tab ชื่อ Sheet

เมื่อกดแล้วจะมีชื่อ Sheet เรียงกันอยู่ เราสามารถพุ่งไปหา Sheet ที่ต้องการได้ เพียงแค่กดตัวอักษรแรกสุดของชื่อ Sheet นั้นๆ เช่น จะไป Sheet ชื่อว่า Data Validation ก็ให้กดตัว d บนคีย์บอร์ดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเจอ Sheet นั้น

No.3 : ทดลองค่าจนกว่าจะได้ตามเป้าหมายด้วย Goal Seek

หากเราเขียนสูตรใน Excel เพื่อผูกความสัมพันธ์แต่ละ Cell เอาไว้ เช่น ใส่ราคาสินค้าก่อน Vat และราคาสินค้าหลัง Vat เอาไว้
เช่น ก่อน Vat ในช่อง B1 เป็น 100 บาท และหลัง Vat เป็น =B1+(7%*B1) ซึ่งจะได้ 107

ที่นี้สมมติปัญหาคือ เราอยากให้ราคาหลัง Vat เป็น 120 บาทพอดี จะต้องมีราคาก่อน Vat เท่าไหร่??

โจทย์แบบนี้ปกติแล้วถ้าเรามีความรู้คณิตศาสตร์เราก็จะแก้สมการได้ แต่ถ้าบางทีสมการแก้ยากมาก เราก็สามารถใช้วิธีลองเปลี่ยนราคาก่อน Vat ไปเรื่อยๆ จนกว่าราคาหลัง Vat จะได้ 120 บาทพอดีได้

จะให้เราเปลี่ยนค่าเองไปเรื่อยๆ คงเสียเวลามากกว่าจะเจอ โชคดีที่ Excel สามารถช่วยลองเปลี่ยนค่าแทนเราได้ด้วยเครื่องมือ Data => What-if Analysis => Goal Seek ซึ่งจะให้เราเลือกว่า
จะให้ Cell ไหน (Set Cell) เปลี่ยนค่าเป็นอะไร (To Value) โดยลองเปลี่ยนค่า Cell ไหน (By Changing Cell) พอกด ok แล้ว Excel ก็จะจัดการให้เราทุกอย่างจนจบครับ

No.4 : การกด F4 เพื่อทำ Action ล่าสุดซ้ำ

เทคนิคนี้ง่ายแสนง่าย แค่เราทำอะไรบางอย่างใน Excel เช่น แทรกแถว ลบแถว หรือ ใส่สี แล้วลองกดปุ่ม F4 ดู จะเห็นว่า Excel ทำสิ่งที่เราทำซ้ำอีกรอบนึงอย่างน่ามหัศจรรย์ครับ

Tips: สำหรับคนที่กดปุ่ม F4 แล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้น อาจเป็นเพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณตั้งค่าเอาไว้ว่า ถ้าจะใช้ปุ่ม F1-F12 จะต้องกดปุ่ม Fn (อยู่บริเวณด้านซ้ายของปุ่ม Windows) ควบคู่ไปด้วย จากนั้นให้ลองดูว่ากด Fn+F4 แล้วได้ผลมั้ย

No.5 : Copy ข้อมูลอย่างรวดเร็วด้วย Fill Handle

หากเรามีข้อมูลอยู่ แล้วเราอยากจะ Copy ไป Paste ลงที่อื่น เราสามารถทำง่ายๆ โดยการ Click เม้าส์ซ้ายที่สี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่มุมขวาล่างของ Cell (เรียกว่า Fill Handle) แล้วลากลงมา มันจะทำเหมือนว่าเรากด Copy –> Paste ข้อมูลทุกประการ

และถ้าข้างๆ คอลัมน์นั้นมีข้อมูลอยู่แล้ว เราสามารถกดปุ่ม Double Click ที่ Fill Handle ได้เลย มันจะ Copy ข้อมูลลงมาจนสุดเท่าที่ข้างๆ มีข้อมูลอยู่ (เหมาะมากกับกรณีที่มีข้อมูลเยอะๆ จนลากไม่ไหว)

No.6 : การ Copy รูปแบบด้วย Format Painter

จากเทคนิคที่แล้ว เราทำการ Copy ข้อมูลด้วย Fill Handle ถ้าสังเกตจะเห็นว่ามันเป็นการ Copy ทั้งข้อมูลเนื้อหา (Content) และรูปแบบ (Format)

แต่ถ้าเราอยากจะ Copy แต่ Format เราสามารถทำได้ง่ายๆ โดย เลือก Cell ต้นฉบับก่อน จากนั้นใช้เครื่องมือ Format Painter หรือแปรงทาสี ที่อยู่ในบริเวณซ้ายมือของ Ribbon Home แล้วป้ายไปยังพื้นที่ปลายทางที่ต้องการนั่นเอง

และถ้าอยากจะป้าย Format ลงพื้นที่ปลายทางที่อยู่ไม่ต่อเนื่องกัน ก็สามารถกด Double Click ที่แปรงทาสีได้ เพื่อ lock การใช้แปรงทาสีเอาไว้ก่อนครับ

No.7 : การให้ Excel เลียนแบบเราด้วย Flash Fill

สำหรับมือใหม่ที่ยังเขียนสูตรไม่เก่ง การทำงานด้านจัดการข้อความให้ได้ตามที่เราต้องการนั้นอาจจะเป็นเรื่องยากพอสมควร เช่น จะแยกชื่อ-นามสกุล ออกจากกัน หรือจะเอาชื่อต่อด้วยนามสกุลตัวแรกเพื่อสร้าง email พนักงาน ก็ดูจะยากเกินไป

แต่ถ้าเรามี Excel 2013 ขึ้นไป จะมีเครื่องมือที่จะช่วยชีวิตเราได้แบบสบายๆ นั่นก็คือ Flash Fill ที่จะมีความสามารถในการเลียนแบบสิ่งที่เราทำได้เลย

วิธีทำคือ พิมพ์ผลลัพธ์ที่ต้องการให้ Excel ดูก่อน จากนั้นเลือก Cell ต้นฉบับ (หรือ Cell ถัดไปข้างล่าง 1 ช่อง) จากนั้นกดปุ่ม Ctrl+E เพื่อใช้ Flash Fill ได้เลยครับ

Tips: ถ้า Flash Fill ทำไม่ได้ หรือทำผิด ให้ทำตัวอย่างเพิ่ม เดี๋ยวมันจะฉลาดเอง

No.8 : กำจัดข้อมูลที่ซ้ำด้วย Remove Duplicates

บางทีเรามีข้อมูลในแต่ละคอลัมน์ซ้ำๆ กันเต็มไปหมด เราสามารถกำจัดตัวซ้ำได้ง่ายๆ ด้วยการเลือกข้อมูลคอลัมน์ที่ต้องการ แล้วไปที่ Ribbon Data => Remove Duplicates เพียงเท่านี้ตัวซ้ำก็จะหายไปอย่างง่ายดาย

Tips : คำสั่ง Remove Duplicates จะมองว่าข้อมูลที่ Content เหมือนกัน แต่ต่าง Format กัน ถือว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ซ้ำกัน แต่เราอยากจะให้เหลือที่ Content ที่ไม่ซ้ำกัน ก็สามารถ Clear Format ทิ้งไปก่อนจะ Remove Duplicates ก็ได้ หรือจะเปลี่ยนวิธีไปใช้เครื่องมือ PivotTable แทนก็ได้

No.9 : จัดการเฉพาะข้อมูลที่เราสนใจด้วย Filter

การทำงานกับข้อมูลที่มีหลายๆ รายการในฐานข้อมูล ก็มีหลายจังหวะที่เราก็อยากจะจัดการข้อมูลเฉพาะรายการที่เราสนใจเท่านั้น เช่น สนใจเฉพาะ สินค้า A หรือ เฉพาะเดือนที่เลือก

ซึ่งเราสามารถทำเรื่องดังกล่าวได้โดยง่าย โดยการใช้เครื่องมือ Filter
วิธีการคือ เลือกซัก Cell หนึ่งในข้อมูลของเรา จากนั้นไปที่ Data=> Filter

จากนั้นก็เลือก Filter ว่าจะดูเฉพาะรายการไหน ซึ่งพอ Filter ปุ๊ป เลขแถวบริเวณด้้านซ้ายมือจะกลายเป็นสีฟ้า

หลังจากที่ Filter แล้วไม่ว่าเราจะทำอะไรกับข้อมูลก็ตาม มันจะส่งผลเฉพาะรายการที่เรามองเห็นอยู่เท่านั้นครับ ไม่ว่าจะแก้ไข Content หรือ Format เช่น เขียนสูตร ลบข้อมูล ใส่สี ตีกรอบ หรือจะ Copy ข้อมูลจากตารางที่ Filter อยู่ออกไป Paste ลงที่อื่นก็ตาม

เมื่อ filter แล้วจะสังเกตได้ว่าตัวเลขด้านซ้ายจะเป็นสีฟ้า
เมื่อเราทำอะไรก็ตามกับข้อมูลที่มีการ Filter มันจะส่งผลเฉพาะข้อมูลที่มองเห็นอยู่เท่านั้น

Tips : การ Copy ข้อมูลจากที่อื่น มา Paste ยังข้อมูลที่ Filter อยู่ จะมีการ Paste ลงไปยังรายการที่มองไม่เห็นด้วย (ต่างจากการ Copy ข้อมูลจากตารางที่ Filter อยู่ไป Paste ลงที่อื่่น)

The post 9 เทคนิค เก่ง Excel มือใหม่ก็ทำได้ appeared first on เทพเอ็กเซล ThepExcel.com.

วิธีสร้างเลข Running 1 ถึง 1000 ง่ายๆ

$
0
0

บางครั้งเราต้องการสร้างเลข Running ใน Excel ให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น จากเลข 1 ไปจนถึง 1000 (หรือจะ 1 ล้านก็ตาม)

วิธีที่ทำได้ง่ายมากๆ วิธีหนึ่ง นั่นก็คือ การใช้เครื่องมือ Fill Series นั่นเอง ซึ่งมีวิธีการทำดังนี้

Step 1 : เลือก Cell ที่ต้องการเป็นจุดเริ่มต้น แล้วพิมพ์เลขเริ่มต้น เช่น เลข 1

Step 2 : ไปที่ Ribbon Home => Fill => Series…

Step 3 : เลือกว่าจะ Fill ข้อมูลในแนวไหน ซึ่งปกติจะเลือก column ซึ่งเป็นแนวตั้ง แล้วก็กรอกไปว่าจะให้สิ้นสุดที่เลขอะไร เช่น 1000 จากนั้นกด ok

ได้ผลลัพธ์ เป็นอันจบครับ! ง่ายมะ?

แค่งี้เองครับ เทคนิคนี้ง่ายมากๆ ใครชอบก็อย่าลืมบอกต่อเพื่อนๆ ด้วยนะครับ ขอบคุณมากๆ

The post วิธีสร้างเลข Running 1 ถึง 1000 ง่ายๆ appeared first on เทพเอ็กเซล ThepExcel.com.

Viewing all 31 articles
Browse latest View live


<script src="https://jsc.adskeeper.com/r/s/rssing.com.1596347.js" async> </script>